ข้อบังคับบริษัท ข้อบังคับบริษัท

หมวดที่ 1 บททั่วไป

  1. ข้อ 1. ข้อบังคับนี้ให้เรียกว่า ข้อบังคับของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  2. ข้อ 2. คำว่า “บริษัท” ที่ใช้ในข้อบังคับนี้ ให้หมายถึง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

    คำว่า “กฎหมาย” ที่ใช้ในข้อบังคับนี้ ให้หมายถึง กฎหมายว่าด้วย บริษัท มหาชน จำกัด และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท
  3. ข้อ 3. การเพิ่มเติมหรือการแก้ไขใดๆ ในข้อบังคับนี้ก็ดี หรือในข้อกำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิก็ดีจะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  4. ข้อ 4. ข้อบังคับนี้ ถ้ามิได้ตราไว้โดยชัดแจ้ง ให้ถือและบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ว่าด้วยการนั้น

หมวดที่ 2 การออก และการโอนหุ้น

  1. ข้อ 5. หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญ และเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน หุ้นทุกหุ้นของบริษัทต้องชำระค่าหุ้นครั้งเดียวจนเต็มมูลค่า

    บริษัทอาจออกและเสนอขายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิ และหลักทรัพย์อื่นใดเพื่อเสนอขายแก่ประชาชนได้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทอาจแปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพ หรือหลักทรัพย์แปลงสภาพอื่นใดเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ หรืออาจแปลงสภาพหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญก็ได้ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

    บริษัทอาจเสนอขายหุ้นสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ก็ได้ โดยบริษัทจะจัดสรรเงินที่ได้เกินกว่ามูลค่าหุ้นทั้งหมดเป็นทุนสำรองส่วนล้ำมูลค่าหุ้นแยกต่างหากจากกองทุนสำรองของบริษัท

    การชำระค่าหุ้นนั้น ผู้จองหุ้นจะขอหักกลบลบหนี้กับบริษัทไม่ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกหุ้นใหม่ เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนโดยอาศัยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (3/4) ของจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

    การออกหุ้นเพื่อชำระหนี้และโครงการแปลงหนี้เป็นทุนตามวรรคก่อนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

    ใบหุ้นของบริษัทจะต้องมีกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคน ลงหรือพิมพ์ลายมือชื่อ แต่ทั้งนี้บริษัทอาจมอบหมาย ให้นายทะเบียนหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ลงหรือพิมพ์ลายมือชื่อในใบ หุ้นแทนก็ได้ ซึ่งการลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ดังกล่าวนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  2. ข้อ 6. การเสนอขายหุ้น และหลักทรัพย์อื่น ๆ ต่อประชาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ
  3. ข้อ 7. บริษัทอาจแต่งตั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคลทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นก็ได้ และหากบริษัทแต่งตั้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนหุ้นของบริษัท วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับงานทะเบียนของบริษัทให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนหุ้นกำหนด
  4. ข้อ 8. บุคคลใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในหุ้นใดๆ เนื่องจากการตายหรือล้มละลายของผู้ถือหุ้น เมื่อได้นำหลักฐาน อันชอบด้วยกฎหมายมาแสดงต่อบริษัทครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทลงทะเบียนและออกใบหุ้นให้ใหม่ภายในระยะเวลาตามที่กำหนด โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ในกรณีที่มีใบหุ้นชำรุดในสาระสำคัญหรือลบเลือน เมื่อได้นำใบหุ้นเดิมมาเวนคืน ให้บริษัทออกใบหุ้นให้ใหม่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากใบหุ้นสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้ถือหุ้นนำหลักฐานการ แจ้งความจากพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นอันสมควรมาแสดงต่อบริษัท ให้บริษัทออกใบหุ้นใหม่แก่ผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    บริษัทอาจเรียกค่าธรรมเนียมในการออกใบหุ้นใหม่แทนใบหุ้นที่สูญหาย ถูกทำลาย ลบเลือน หรือ ชำรุดหรือในการที่ผู้ถือหุ้นขอสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมคำรับรองของบริษัทได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจะกำหนด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราชั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้
  5. ข้อ 9. หุ้นของบริษัทให้โอนกันได้โดยเสรีไม่มีข้อจำกัด เว้นแต่การโอนหุ้นนั้นจะทำให้มีหุ้นที่ถือโดยบุคคลที่มิใช่สัญชาติไทยในขณะใดขณะหนึ่งมีจำนวนรวมกันเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด
  6. ข้อ 10. การโอนหุ้นนั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้น โดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และได้มีการส่งมอบใบหุ้นฉบับดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอน

    การโอนหุ้นดังกล่าวนั้น จะใช้ยันบริษัทได้ต่อเมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนการโอนหุ้นและจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทได้ลงทะเบียนการโอนหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบริษัทเห็นว่าการโอนหุ้นถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทจะลงทะเบียนการโอนหุ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ หากการโอนหุ้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ บริษัทจะแจ้งแก่ผู้ยื่นคำร้องภายใน 7 วัน

    หากหุ้นของบริษัทได้รับการจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การโอนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
  7. ข้อ 11. บริษัทจะถือหุ้นหรือรับจำนำหุ้นของตนเองมิได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

    (1) บริษัทอาจซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งแก้ไข ข้อบังคับบริษัทเกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนและสิทธิในการรับเงินปันผล ซึ่งผู้ถือหุ้นเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
    (2) บริษัทอาจซื้อหุ้นคืนเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารทางการเงิน ในกรณีที่บริษัทมีกำไรสะสม และสภาพคล่องส่วนเกินและการซื้อหุ้นคืนนั้นไม่เป็นเหตุให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงิน

    ทั้งนี้ ในการซื้อหุ้นของบริษัทคืน ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่การซื้อหุ้นคืนดังกล่าวมีจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละสิบ (10) ของทุนชำระแล้ว ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการของบริษัทในการอนุมัติการซื้อหุ้นคืนดังกล่าว

    หุ้นที่บริษัทถือไม่นับเป็นองค์ประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นรวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนและสิทธิในการรับเงินปันผล บริษัทจะต้องจำหน่ายหุ้นที่บริษัทซื้อคืนตามวรรคก่อนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

    ในกรณีที่บริษัทไม่จำหน่ายหรือจำหน่ายหุ้นที่บริษัทซื้อคืนไม่หมดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด บริษัทจะดำเนินการลดทุนที่ชำระแล้ว โดยวิธีการตัดหุ้นจดทะเบียนส่วนที่จำหน่ายไม่ได้

    การซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน รวมถึงการกำหนดจำนวน ราคาเสนอซื้อหุ้นคืน หรือราคาเสนอขายหุ้นที่ซื้อคืน หรือกรณีอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นคืนดังกล่าว และการตัดหุ้นที่ซื้อคืน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
  8. ข้อ 12. ในกรณีที่มีหุ้นบุริมสิทธิ การแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญนั้นกระทำได้โดยให้ผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะแปลงหุ้นดังกล่าว ยื่นคำขอแปลงหุ้นต่อบริษัทพร้อมส่งมอบใบหุ้นคืน

    การแปลงหุ้นตามวรรคแรกให้มีผลนับแต่วันยื่นคำขอ ในการนี้ให้บริษัทออกใบหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ขอภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับคำขอ
  9. ข้อ 13. หุ้นของบริษัทจะแบ่งแยกมิได้ ถ้าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปถือหุ้นหรือจองหุ้น หุ้นเดียวหรือหลายหุ้นร่วมกัน ต้องแต่งตั้งให้คนใดคนหนึ่งในบุคคเหล่านั้นเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น หรือผู้จองหุ้นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้โดยต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้แก่บริษัทหรือนายทะเบียนหุ้น ในกรณีที่ไม่ปรากฏหลักฐานการแต่งตั้งดังกล่าวโดยชัดแจ้ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในใบจองหุ้นหรือใบหุ้นลำดับแรก เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้จองหุ้นหรือผู้ถือหุ้น ให้เป็นผู้ใช้สิทธิดังกล่าวแต่ผู้เดียวจนกว่าจะได้ส่งหลักฐานการแต่งตั้งให้กับบริษัท
  10. ข้อ 14. ในระหว่าง 21 วันก่อนวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแต่ละครั้ง บริษัทอาจปิดสมุดทะเบียนและพักการโอนหุ้นนั้นเสียก็ได้โดยประกาศให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัททุกแห่งไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนวันเริ่มงดรับลงทะเบียนการโอนหุ้น

หมวดที่ 3 กรรมการและอำนาจกรรมการ

  1. ข้อ 15. บริษัทมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อยห้า (5) คน โดยให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้พิจารณาเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และอาจเลือกกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นรองประธานกรรมการ และอาจเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งอื่นตามที่เห็นเหมาะสมก็ได้ และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
  2. ข้อ 16. ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

    1) ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งเสียงต่อทุกหนึ่งหุ้นที่ตนถืออยู่
    2) การเลือกตั้งกรรมการให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นคณะครั้งเดียวเต็มตามจำนวนกรรมการทั้งหมด ที่จะต้องเลือกตั้งในคราวนั้น หรือหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นสมควรก็ให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็น รายบุคคล ทั้งนี้ ในการออกเสียงลงคะแนนไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเป็นรายบุคคลหรือเป็นคณะ บุคคลแต่ละคนที่ผู้ถือหุ้นออกเสียงเลือกตั้งจะได้รับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือ หุ้นนั้นมีอยู่ทั้งหมดตาม (1) โดยผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดมากหรือน้อย เพียงใดไม่ได้
    3) ในกรณีที่ทำการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นรายบุคคล บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับ ลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนที่จะพึงมีหรือ จะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้นให้ใช้วิธีจับสลาก
  3. ข้อ 17. บำเหน็จกรรมการ และค่าตอบแทนให้สุดแล้วแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะกำหนด

    กรรมการมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทในรูปของเงินรางวัล เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส หรือผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะอื่น ตามข้อบังคับหรือตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะอนุมัติ ซึ่งอาจกำหนดเป็นจำนวนแน่นอนหรือวางเป็นหลักเกณฑ์ และจะกำหนดไว้เป็นคราวๆ ไป หรือจะให้มีผลตลอดไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ และนอกจากนั้นให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามระเบียบของบริษัท

    ความในวรรคก่อนไม่กระทบกระเทือนสิทธิของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ในอันที่จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ในฐานะที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท
  4. ข้อ 18. ผู้เป็นกรรมการของบริษัท ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท
  5. ข้อ 19. ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการจะต้องออกจากตำแหน่งอย่างน้อยจำนวนหนึ่งในสาม (1/3) โดยอัตรา ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้เป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม (1/3)

    กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรก และปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้จับสลากว่า ผู้ใดจะออก ส่วนปีหลังๆ ต่อไปให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง

    กรรมการผู้พ้นจากตำแหน่งไปนั้นอาจจะได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
  6. ข้อ 20. นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการอาจพ้นตำแหน่งเมื่อ
    (1) ตาย
    (2) ลาออก
    (3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
    (4) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก
    (5) ศาลมีคำสั่งให้ออก
  7. ข้อ 21. กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท

    กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งจะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
  8. ข้อ 22. ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือน้อยกว่าสองเดือน

    บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนดังกล่าว จะอยู่ในตำแหน่งกรรมการได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

    มติของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่
  9. ข้อ 23. ที่ประชุมผู้ถือหุ้น อาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (3/4) ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงและมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียง
  10. ข้อ 24. ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ ถ้าตำแหน่งประธานกรรมการว่างลงหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการให้รองประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม

    ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย จัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าสาม (3) วันก่อนวันประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดและกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้

    เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท กรรมการตั้งแต่สอง (2) คนขึ้นไป จะร่วมกันร้องขอให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการได้ โดยต้องระบุเรื่องและเหตุผลที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาไปด้วย ในกรณีเช่นนี้ ให้ประธานกรรมการเรียกและกำหนดวันประชุมภายในสิบสี่ (14) วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ หากประธานกรรมการไม่ดำเนินการ กรรมการซึ่งร้องขออาจร่วมกันเรียกและกำหนดวันประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องที่ร้องขอได้ภายในสิบสี่ (14) วัน นับตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

    ในการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ที่เป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเอกสารประกอบการประชุม คณะกรรมการบริษัทอาจจัดส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมดังกล่าวทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ ในการนี้ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
  11. ข้อ 25. องค์ประชุมในการประชุมคณะกรรมการ จะต้องประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

    ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธาน ถ้าไม่มีรองประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม

    การประชุมคณะกรรมการสามารถดำเนินการโดยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามเงื่อนไข ขั้นตอน และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด
  12. ข้อ 26. คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบจัดการกิจการทั้งหลายทั้งปวงของบริษัท และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการภายในขอบเขตของกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท และตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ หรือที่เกี่ยวข้องกับการดังกล่าวนั้น

    คณะกรรมการอาจมอบหมายให้บุคคลหนึ่งหรือหลายคน ปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการ ก็ได้

    คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคล หรือคณะบุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัทภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ หรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและภายในเวลาที่คณะกรรมการเห็นสมควร และคณะกรรมการอาจยกเลิกเพิกถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอำนาจนั้น ๆ ก็ได้

    คณะกรรมการมีอำนาจเลือกตั้งกรรมการจำนวนหนึ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร เพื่อดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่าง โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ กรรมการบริหารมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและบำเหน็จ หรือผลตอบแทนในลักษณะอื่นตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของกรรมการบริหารผู้นั้นในอันที่จะได้รับค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นตามข้อบังคับนี้ในฐานะกรรมการ

    กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท ให้กรรมการสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท โดยคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้กำหนดรายชื่อกรรมการที่จะเป็นผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทก็ได้
  13. ข้อ 27. มติทั้งปวงของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ตัดสินด้วยคะแนนเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน เว้นแต่กรรมการซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

    ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
  14. ข้อ 28. กรรมการต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า หากมีส่วนได้เสียในสัญญาที่บริษัททำขึ้นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือถือหุ้น หุ้นกู้ เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัท หรือบริษัทในเครือ
  15. ข้อ 29. คณะกรรมการของบริษัทต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกสาม (3) เดือน
  16. ข้อ 30. ห้ามมิให้กรรมการประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนหรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น เว้นแต่จะได้แจ้งให้ที่ประชุม ผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง
  17. ข้อ 31. การประชุมคณะกรรมการของบริษัท ให้จัดขึ้น ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท หรือจังหวัดใกล้เคียง หรือ ณ ที่อื่นใดตามที่ประธานกรรมการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการจะกำหนด

    การประชุมคณะกรรมการอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม
  18. ข้อ 32. ภายใต้บังคับกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด คณะกรรมการมีอำนาจที่จะขาย หรือจำนองอสังหาริมทรัพย์ ใดๆ ของบริษัทหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ของบริษัทกว่าสามปีขึ้นไป หรือให้ หรือประนีประนอมยอมความ หรือยื่นฟ้องต่อศาล หรือมอบข้อพิพาทใดๆ ให้อนุญาโตตุลาการ

หมวดที่ 4 การประชุมผู้ถือหุ้น

  1. ข้อ 33. การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้จัดขึ้น ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท หรือจังหวัดใกล้เคียง หรือ ณ ที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการจะกำหนด

    ทั้งนี้ การประชุมผู้ถือหุ้นอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม
  2. ข้อ 34. ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การประชุมเช่นว่านี้ให้เรียกว่า “ประชุมสามัญ” การประชุมสามัญดังกล่าวให้กระทำภายในสี่ (4) เดือนภายหลังการสิ้นสุดรอบปีทางการบัญชีของบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้นคราวอื่นๆ ให้เรียกว่า “ประชุมวิสามัญ”

    คณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่เห็นสมควร หรือเมื่อผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ (10) ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจะเข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเรื่องและเหตุผลในการที่ขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนในหนังสือดังกล่าวด้วย ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่สิบห้า (45) วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น

    ในกรณีที่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเข้าชื่อกันหรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ รวมกันได้จำนวนหุ้นตามที่บังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้ภายใน สี่สิบห้า (45) วันนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นการประชุม ผู้ถือหุ้นที่คณะกรรมการเรียกประชุม โดยบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่เกิดจากการจัดให้มี การประชุมและอำนวยความสะดวกตามสมควร

    ในกรณีที่ปรากฏว่าการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นการเรียกประชุมเพราะผู้ถือหุ้นตามวรรคสามครั้งใด จำนวน ผู้ถือหุ้นซึ่งมาร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 36. ผู้ถือหุ้นตามวรรคสามต้องร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่าย ที่เกิดจากการจัดให้มีการประชุมในครั้งนั้นให้แก่บริษัท

    ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเองตามวรรคสาม ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมอาจจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยัง ผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมาย
  3. ข้อ 35. ในการบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ให้คณะกรรมการจัดทำหนังสือนัดประชุมระบุ สถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุมและเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุม พร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่เสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณาแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าวและจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ด (7) วันก่อนวันประชุม และให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนดติดต่อกันสาม (3) วัน และไม่น้อยกว่าสาม (3) วันก่อนวันประชุมด้วย

    หนังสือนัดประชุมและเอกสารประกอบการประชุมที่ส่งให้บรรดาผู้ถือหุ้นนั้นให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนด
  4. ข้อ 36. การประชุมผู้ถือหุ้น ต้องมีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น (ถ้ามี) เข้าประชุมรวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบห้า (25) คนหรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (1/3) ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จึงจะครบเป็นองค์ประชุม เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

    ในกรณีที่ปรากฏว่าการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใด เมื่อล่วงเวลานัดไปแล้วถึงหนึ่งชั่วโมง จำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ หากว่าการประชุมผู้ถือหุ้นนั้นได้เรียกนัดเพราะ ผู้ถือหุ้นร้องขอ ให้การประชุมเป็นอันระงับไป ถ้าการประชุมผู้ถือหุ้นนั้นมิใช่เป็นการเรียกประชุมเพราะ ผู้ถือหุ้นร้องขอให้นัดประชุมใหม่ และให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าเจ็ด (7) วันก่อนวันประชุม ในการประชุมครั้งหลังนี้ไม่จำเป็นต้องครบองค์ประชุม

    การประชุมผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการโดยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามเงื่อนไข ขั้นตอน และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด
  5. ข้อ 37. ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นอาจมอบฉันทะให้บุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเข้าประชุม และออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้

    หนังสือมอบฉันทะจะต้องลงวันที่และลายมือชื่อของผู้ถือหุ้นที่มอบฉันทะ และจะต้องเป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด โดยมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

    ก. จำนวนหุ้นซึ่งผู้มอบฉันทะนั้นถืออยู่
    ข. ชื่อผู้รับมอบฉันทะ
    ค. ครั้งที่ของการประชุมที่มอบฉันทะให้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

    และมอบแก่ประธานกรรมการ หรือบุคคลซึ่งประธานกรรมการกำหนดไว้ ก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าประชุม

    การมอบฉันทะดังกล่าวอาจดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ โดยต้องใช้วิธีการที่มี ความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่าการมอบฉันทะนั้นได้ดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนด
  6. ข้อ 38. ในกรณีที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ในหนังสือนัดประชุมไม่เสร็จ หรือพิจารณาเรื่องที่ผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (1/3) ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดเสนอในที่ประชุมไม่เสร็จ และจำเป็นต้องเลื่อนการพิจารณา ให้ที่ประชุมกำหนดสถานที่ วัน และเวลาที่จะประชุมครั้งต่อไป และให้คณะกรรมการส่งหนังสือนัดประชุมระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระ การประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมาย หรือนายทะเบียนกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ด (7) วันก่อนการประชุม ทั้งนี้ให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนดติดต่อกันสาม (3) วัน และไม่น้อยกว่าสาม (3) วันก่อนวันประชุมด้วย
  7. ข้อ 39. ประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธาน ถ้าไม่มีรองประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
  8. ข้อ 40. ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนนเสียงหนึ่งเสียงต่อหนึ่งหุ้น

    ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องใด ผู้ถือหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นมิได้ นอกจากการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ

    การออกเสียงลงมติใดๆ หรือการอนุมัติกิจการใดๆ ในที่ประชุมใหญ่จะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

    เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (3/4) ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

    ก. การขายหรือโอนกิจการของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่น
    ข. การซื้อหรือรับโอนกิจการของบริษัทมหาชนอื่นหรือบริษัทเอกชนมาเป็นของบริษัท
    ค. การทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการให้เช่ากิจการของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญ การมอบหมายให้แก่บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัท หรือการรวมกิจการกับบุคคลอื่นโดย มีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน

    การออกเสียงลงคะแนนในวรรคหนึ่งในส่วนที่ถือว่าหุ้นหนึ่งหุ้นมีหนึ่งเสียงนั้น มิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทได้ออกหุ้นบุริมสิทธิและกำหนดให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนน้อยกว่าหุ้นสามัญ

หมวดที่ 5 การบัญชี การเงิน และการสอบบัญชี

  1. ข้อ 41. รอบปีบัญชีของบริษัทเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
  2. ข้อ 42. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการทำ และเก็บรักษาบัญชี ตลอดจนการสอบบัญชีไว้ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
  3. ข้อ 43. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้งทุกรอบสิบสอง (12) เดือน อันเป็นรอบปีในทางบัญชีเงินของบริษัท
  4. ข้อ 44. คณะกรรมการต้องจัดให้มีการทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชี ของบริษัทเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้เสร็จก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  5. ข้อ 45. คณะกรรมการต้องจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ให้ผู้ถือหุ้นพร้อมกับหนังสือนัดประชุมสามัญประจำปีี

    (1) สำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้ว พร้อมกับรายงานการตรวจสอบ บัญชีของผู้สอบบัญชี
    (2) รายงานประจำปีของคณะกรรมการ และเอกสารแสดงประกอบรายงานดังกล่าว
  6. ข้อ 46. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีทะเบียนกรรมการ บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการ และการประชุม ผู้ถือหุ้น และข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมลงไว้เป็นหลักฐานโดยถูกต้อง และหลักฐานนี้ให้เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท หรือมอบหมายให้บุคคลใดทำหน้าที่เก็บรักษาไว้ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือจังหวัดใกล้เคียงก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อน
  7. ข้อ 47. ผู้สอบบัญชีให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีแต่งตั้ง ผู้สอบบัญชีผู้ซึ่งออกไปนั้นจะเลือกกลับเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
  8. ข้อ 48. ผู้สอบบัญชีควรได้ค่าตอบแทนเท่าใด ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกำหนด
  9. ข้อ 49. กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ของบริษัทเวลาอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ จะเลือก เอามาเป็นตำแหน่งผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้
  10. ข้อ 50. ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัททุกครั้งที่มีการพิจารณางบดุล บัญชี กำไรขาดทุน และปัญหาเกี่ยวกับบัญชีของบริษัท เพื่อชี้แจงการตรวจสอบบัญชีต่อผู้ถือหุ้นและให้บริษัทจัด ส่งรายงาน และเอกสารของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นจะพึงได้รับในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนั้นแก่ผู้สอบบัญชีด้วย
  11. ข้อ 51. ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล

    เงินปันผลให้จ่ายตามจำนวนหุ้น หุ้นละเท่า ๆ กัน โดยการจ่ายเงินปันผลต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

    ในกรณีที่บริษัทยังจำหน่ายหุ้นไม่ครบตามจำนวนที่จดทะเบียนไว้ หรือบริษัทได้จดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว บริษัทจะจ่ายเงินปันผล ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยออกเป็นหุ้นสามัญใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้

    คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว ในเมื่อเห็นว่าบริษัทมีผลกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้นได้ และรายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป

    การจ่ายเงินปันผล ให้กระทำภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ถือหุ้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนด และให้โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้น ในหนังสือพิมพ์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและนายทะเบียนกำหนด เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสาม (3) วันด้วย ทั้งนี้ มิให้คิดดอกเบี้ยแก่บริษัทหากการจ่ายเงินปันผลนั้นได้กระทำภายใต้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
  12. ข้อ 52. บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือมากกว่านั้น โดยให้คณะกรรมการจัดทำความเห็นเพื่อเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผุ้ถือหุ้น

หมวดที่ 6 บทเพิ่มเติม

  1. ข้อ 53. ดวงตราของบริษัทให้มีลักษณะดังนี้
  2. ข้อ 54. บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และในกรณีที่บริษัทมีหลักทรัพย์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทจะปฏิบัติตามข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมตลอดถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการทำรายการเกี่ยวโยงกันและการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัทหรือบริษัทย่อย
close