จรรยาบรรณ กรรมการ จรรยาบรรณ กรรมการ

จรรยาบรรณของคณะกรรมการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

การบริหารงานของคณะกรรมการ มีบทบาทในการเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น มีหน้าที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ที่สำคัญ ของกิจการและดูแลให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการได้นำนโยบายไปปฏิบัติตามที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิด ชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท เพื่อให้การบริหาร งานของบริษัทเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ซึ่งจะประสบผลสำเร็จ และเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดดุลยภาพที่เหมาะสมโดยปฏิบัติ ตามแนวทางใน 6 หมวด ดังต่อไปนี้

หมวดที่ 1 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อบริษัท/ผู้ถือหุ้น
หมวดที่ 2 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริหารและพนักงาน
หมวดที่ 3 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อลูกค้า
หมวดที่ 4 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อคู่ค้า/เจ้าหนี้/ลูกหนี้
หมวดที่ 5 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
หมวดที่ 6 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อสังคมและส่วนรวม
หมวดที่ 7 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อชุมชน
หมวดที่ 8 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม

หมวดที่ 1 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อบริษัท/ผู้ถือหุ้น

  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย และเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรวม
  2. บริหารกิจการของบริษัทให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง และก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
  3. จัดการดูแลไม่ให้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทสูญค่า หรือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ จัดให้มีระบบควบคุมภายในและระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผล
  4. เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเข้ามามีส่วนในการดูแลกิจการ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ ภายใต้การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
  5. เปิดเผยข้อมูลและสารสนเทศทั้งทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน ที่เกี่ยวกับธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทที่เป็นจริงอย่างครบถ้วนเพียงพอ สม่ำเสมอ ทันเวลา และแสดงให้เห็นถึงสถานภาพของการประกอบการและสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงของบริษัท
  6. แจ้งข้อมูล ข่าวสารและสารสนเทศของบริษัทที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และเพียงพอต่อการตัดสินใจแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน และในเวลาที่เหมาะสม
  7. ดูแลไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยให้ข้อมูลใดๆ ของบริษัทซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เปิดเผยข้อมูลลับของบริษัทต่อบุคคลภายนอก และ/หรือดำเนินการใด ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท
  8. ในระหว่างที่มีตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบต่อบริษัท ไม่ประกอบธุรกิจส่วนตัวใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดผลประโยชน์ต่อบริษัท (Conflict of Interest)

หมวดที่ 2 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริหาร และพนักงาน

  1. ประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบของจรรยาบรรณโดยเป็นตัวอย่างที่ดี ให้แก่ผู้บริหาร และพนักงาน
  2. ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้บริหาร และพนักงานมีความเข้าใจ และประพฤติตนตามกรอบของ จรรยาบรรณ อย่างทั่วถึงทั้งบริษัท
  3. ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพและให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  4. ตระหนักถึงความสำคัญของพนักงาน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ สรรหาและว่าจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เพื่อเข้ามาปฏิบัติงาน และสัมพันธ์กับความต้องการและการเติบโตของบริษัท โดยจัดโครงการพัฒนาความรู้ความสามารถพนักงานอย่างต่อเนื่องให้มีความสามารถในระดับสูง
  5. ปฏิบัติกับพนักงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยการให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่บริษัทกำหนด การให้สวัสดิการเงินกู้ยืมสำหรับพนักงาน
  6. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร โดยจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรภายในที่ชัดเจน ส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับพนักงานจนถึงผู้บริหารระดับสูง ให้ได้รับการฝึกฝนอบรมเพื่อพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจ้างงานในเงื่อนไขที่ยุติธรรมเหมาะสมกับสภาวะตลาดและสอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน
  7. ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมและเหมาะสมแก่พนักงานตามศักยภาพการทำงาน ด้วยการนำระบบประเมินผลการปฏิบัติงานในการวัดความสามารถเพื่อเป็นหลักในการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ประกอบการพิจารณาความดีความชอบของพนักงาน และเพื่อเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาพนักงาน
  8. สร้างบรรยากาศการทำงานแบบมีส่วนร่วม และการทำงานเป็นทีม โดยเปิดโอกาสให้ พนักงานได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติอย่างทั่วถึง
  9. การจัดให้มีสภาพแวดล้อม และสุขอนามัยในสถานที่ทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต ตลอด จนทรัพย์สินของพนักงานและของบริษัท
  10. ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานและสถานภาพของบริษัทให้พนักงานทราบอย่างสม่ำเสมอ
  11. หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน หรือคุกคามและสร้างความกดดันต่อสภาพจิตใจของพนักงาน

หมวดที่ 3 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อลูกค้า

  1. มีทัศนคติที่ดี และให้ความสำคัญต่อลูกค้า ปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น มีน้ำใจ สุภาพอ่อนโยนและรักษาความลับของลูกค้า โดยไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ รวมทั้งปฏิบัติต่อลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ
  2. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งควบคุมต้นทุน ให้อยู่ในระดับต่ำเท่าที่เป็นไปได้ แต่คงไว้ซึ่งคุณภาพบริการให้ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพสูง ทัดเทียมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำตลอดเวลาเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจมากที่สุด
  3. ส่งมอบสินค้า/งานที่มีคุณภาพ ตรงตามข้อตกลงกับลูกค้าในราคาที่เป็นธรรม ไม่ค้ากำไรเกินควร
  4. ให้ข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันเหตุการณ์ต่อลูกค้า เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับสินค้า การบริการ
  5. ส่งมอบงานและรับประกันผลงาน ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ
  6. มีระบบการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างปลอดภัย มีมาตราการรักษาความลับของลูกค้า ไม่ส่งต่อข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า และไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
  7. ให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา
  8. ให้มีระบบ/กระบวนการที่ลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ รวมทั้งความรวดเร็วในการตอบสนองการส่งมอบ และการดำเนินการอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว

หมวดที่ 4 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อคู่ค้า/เจ้าหนี้/ลูกหนี้

  1. ปฏิบัติต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้/ลูกหนี้ทุกรายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
  2. มีการแข่งขันบนข้อมูลที่ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการกีดกันไม่ให้คู่ค้ารายใดรายหนึ่งเข้าร่วมแข่งขันทางธุรกิจ
  3. จัดทำรูปแบบสัญญาที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
  4. จัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน มีระบบการควบคุมภายในที่ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
  5. จ่ายเงินคู่ค้าให้ตรงเวลา ตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงกัน
  6. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่ค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม เช่น การจ่ายสินจ้างให้แก่กรรมการและพนักงานของคู่แข่ง
  7. ไม่กล่าวหาในทางร้ายแก่คู่ค้าโดยปราศจากข้อมูลแห่งความจริง
  8. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งปฏิบัติตามพันธะสัญญา
  9. ให้ข้อมูลที่เป็นจริง รายงานที่ถูกต้อง การเจรจาแก้ปัญหาและหาทางออกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
  10. ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้กับคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดได้ ต้องรีบแจ้งล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข
  11. ใช้สินค้าและบริการที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง และไม่สนับสนุนสินค้าหรือการกระทำที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

หมวดที่ 5 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า

  1. มีนโยบายเสรีทางการค้า และเชื่อว่าการมีคู่แข่งเป็นเรื่องดีเพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งมาตรฐานการบริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสนอต่อลูกค้า
  2. ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบการแข่งขันที่ดี
  3. ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้ายและปราศจากข้อมูลความจริง
  4. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือด้วยวิธีการอื่นที่ไม่เหมาะสม
  5. ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา/ลิขสิทธิ์

หมวดที่ 6 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อสังคมและส่วนรวม

  1. คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่กระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และประโยชน์สาธารณะ
  2. ส่งเสริมและปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับพนักงานทุกระดับ
  3. ไม่กระทำการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย
  4. สนับสนุนให้มีการคืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่สังคมและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  5. ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ อย่างเคร่งครัด โดยถือเป็นหลักการว่า ในการทำธุรกิจ เยี่ยงภาคเอกชนนั้น บริษัทจะปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมายเสมอ (Law-abiding citizen)
  6. พัฒนาบริษัทอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินธุรกิจก่อสร้างสีเขียว ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อสังคมไทย

หมวดที่ 7 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อชุมชน

  1. ถือว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทฯ ต้องดูแลและอำนวยความสะดวกบริษัทจึงมุ่งเน้น การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม
  2. ไม่ให้กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
  3. ร่วมประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
  4. สื่อสารกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เผยแพร่และรายงานผลการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
  5. กำหนดให้มีมาตรการป้องกัน/แก้ไข เมื่อเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัท

หมวดที่ 8 ข้อพึงประพฤติปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม

  1. พัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมของบริษัท เพื่อลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนงานปฏิบัติ และการประเมินผลอย่างชัดเจน
  2. ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และให้ความร่วมมือกับพนักงาน ลูกค้า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสาธารณชนทั่วไป เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจอันดีต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัท
  3. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า มีมาตรการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมกระบวนการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
  4. มีการตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัท
  5. ส่งเสริมให้พนักงานบริษัทมีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรณรงค์การอนุรักษ์และการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ สารภายใน บอร์ดประชาสัมพันธ์ หนังสือเวียนภายในต่อพนักงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านสิ่งแวดล้อม
  6. เผยแพร่การดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่พนักงานของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์และรายงานประจำปีของบริษัท
ดาวน์โหลดเอกสาร close