จรรยาบรรณ นักลงทุนสัมพันธ์ จรรยาบรรณ นักลงทุนสัมพันธ์

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จัดทำจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้นักลงทุนสัมพันธ์มีแนวทางหรือกรอบในการปฏิบัติ ในกรณีที่มีปัญหาหรือประเด็นที่ยากแก่การตัดสินใจ ตามหลักการพื้นฐานในเรื่องความถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เท่าเทียม เป็นธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต และสอดคล้องกับนโยบายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท นักลงทุนสัมพันธ์พึงประพฤติปฏิบัติดังนี้

1. เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา

  1. (1) ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
  2. (2) ใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างระมัดระวังและรอบคอบ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า และข้อมูลภายใน หรือที่อาจทำให้บริษัทเสียประโยชน์ในการแข่งขันทางธุรกิจต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือต่อสาธารณะชน หากบริษัทยังไม่ได้รายงานสารสนเทศนั้นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. (3) กรณีที่บริษัทมีข้อมูลอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเพิ่มเติมจากสารสนเทศที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งต้องมีความชัดเจนและมีรายละเอียดเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ โดยไม่ชักจูงให้ผู้ลงทุนเกิดการเข้าใจผิดในการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท
  4. (4) กรณีที่มีข่าวลือ หรือข่าวรั่ว ให้รีบดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและหากมีเงื่อนไขอื่นใดที่สำคัญประกอบให้ระบุอย่างชัดเจน
  5. (5) กำหนดช่องทางการเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้รับทราบอย่าง เท่าเทียมกัน ดังนี้
    1. 1. การเปิดเผยผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
    2. 2. การจัดทำรายงานข้อมูลธุรกิจของบริษัท (MD&A) ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 20
    3. 3. สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น รายงานประจำปี รายงานการเติบโตอย่างยั่งยืน รายงานข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัท IR Presentation ทุกๆไตรมาส
    4. 4. การประชุมกับนักวิเคราะห์หรือนักลงทุน
    5. 5. สื่ออิเล็คโทรนิค เช่น website email Line
    6. 6. การจัด Site Visit
    7. 7. การจัดหรือเข้าร่วม Roadshow ทั้งในและต่างประเทศ
  6. 2. การดูแลรักษาข้อมูลภายใน

    1. (1) ไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น เพื่อใช้แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่บุคคลอื่นโดยมิชอบ
    2. (2) กำหนดและจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัท โดยนักลงทุนสัมพันธ์ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายในต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้บุคคลอื่นทราบจนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามเกณฑ์ต่างๆ แล้ว
    3. (3) นักลงทุนสัมพันธ์ต้องดูแลข้อมูลภายในและเปิดเผยให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนมีการเปิดเผยให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
    4. (4) กำหนดช่วงเวลาในการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุน/นักวิเคราะห์ดังนี้
      1. 1. ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส ภายใน 45 วันหลังวันที่ในงบการเงิน
      2. 2. ผลการดำเนินงานประจำปี ภายใน 60 วันหลังวันที่ในงบการเงิน

    3. เปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้

    1. (1) การเปิดเผยข้อมูลได้มีการกำหนดประเภทข้อมูล กำหนดการเปิดเผย และแจ้งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลที่เท่าเทียมกันในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การจัด Company Visit, Roadshow, Analyst Meeting, Press conference เพื่อความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มและ ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประเปรียบและโอกาสในการลงทุน
    2. (2) กำหนดลักษณะของเนื้อหาสารสนเทศในการเปิดเผยเพื่อให้นักลงทุนสัมพันธ์ถือปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ดังนี้
      1. 1. ถูกต้องตามความเป็นจริง ชัดเจน
      2. 2. มีข้อมูลทางการเงินและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินความสำคัญได้
      3. 3. ใช้ภาษาที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ง่ายมากที่สุด
    3. (3) ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณชนแล้วไม่ว่าจะเป็นเอกสารเผยแพร่หรือทางวาจา นักลงทุนสัมพันธ์สามารถตอบคำถามหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้สนใจเป็นส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มได้ ทั้งนี้ต้องดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกกลุ่ม
    4. (4) การเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่าง นักลงทุนสัมพันธ์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ที่ต้องการตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ โดยมีรายละเอียดในระดับที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความเหมาะสมของความต้องการใช้ข้อมูลของผู้ลงทุนแต่ละราย
    5. (5) เปิดเผยข้อมูลที่นำเสนอในการประชุมเฉพาะกลุ่มให้สาธารณะรับทราบโดยทั่วกัน ได้แก่การเปิดเผย Roadshow Presentation และ Analyst Presentation บนเว็บไซต์ของบริษัทภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นโดยเร็ว
    6. (6) เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจัดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นช่องทางในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้สามารถพบปะ และรับฟังความคิดเห็นของผู้ลงทุนได้โดยตรงตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ลงทุนผ่านกิจกรรมต่างๆ
    7. (7) การสื่อสารข้อมูล กรณีพบประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และจำเป็นต้องชี้แจง ให้นักลงทุนสัมพันธ์แจ้งข้อมูลผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
    การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อปฏิบัติ
    นักลงทุน 1. ปฏิบัติต่อนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็กอย่างเท่าเทียมกัน
    2. ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนรายบุคคลในระดับที่เท่าเทียมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน
    นักวิเคราะห์และกองทุน 1. เชิญและเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน หรือผู้แทนจากทุกบริษัทหลักทรัพย์ เข้าร่วมการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst meeting) อย่างเท่าเทียมกัน
    2. เคารพผลงานและความเห็นของนักวิเคราะห์ แต่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้ หากเห็นว่ามีการใช้หรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
    สื่อมวลชน 1. เชิญและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนจากทุกสำนัก เข้าร่วมPress conference อย่างเท่าเทียมกัน และให้ข้อมูลตามความเหมาะสม
    การปฏิบัติต่อหน่วยงานทางการ 1. ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานทางการตามที่ถูกร้องขอ
    การปฏิบัติต่อบุคคลภายในองค์กร 1. ประสานงานให้ผู้บริหารของบริษัทได้พบปะกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามโอกาสที่สมควร
    2. รายงานให้คณะกรรมการและผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท
    3. สื่อสารให้พนักงานในองค์กรได้รับทราบถึงจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับนักลงทุนสัมพันธ์
    การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ 1. ให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในระดับที่เท่าเทียมกัน เว้นแต่มีความจำเป็นอื่นใดในการดำเนินธุรกิจ

    4. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติบนอามิสสินจ้างใดๆ ที่เป็นเหตุจูงใจส่วนบุคคลและเอื้อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

    1. (1) ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท นโยบาย และจรรยาบรรณพนักงานอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท เช่นการใช้ทรัพย์สิน ข้อมูล และความสัมพันธ์จากการทำหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตน
    2. (2) ประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของนักลงทุนสัมพันธ์ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์
ดาวน์โหลดเอกสาร close